top of page
  • Writer's pictureSertis

AI กับการเงิน และการลงทุน



ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าเราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเฟื่องฟูและมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง นอกจากการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อสร้างจุดขายและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาดที่ดุดันแล้ว ในภาคธุรกิจการเงิน ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทและเป็นตัวแปรสำคัญ ตัวอย่างที่ทุกท่านน่าจะเคยรู้จักผ่านตามาบ้าง ได้แก่ การบริหารจัดการการเงิน และการลงทุนผ่านการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า AI

มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในด้านการลงทุน ทั้งการช่วยคำนวณ วิเคราะห์ คาดคะเนแนวโน้ม และจัดการด้านการซื้อ-ขายหุ้น ซึ่ง AI สร้างความได้เปรียบด้านการประมวลผลที่รวดเร็วจากการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล และตัดสินใจซื้อขายได้อย่างแม่นยำโดยปราศจากปัจจัยทางด้านอารมณ์และความรู้สึกเมื่อเทียบกับการตัดสินใจของมนุษย์ นอกจากนี้ยังช่วยลดเวลาในการเฝ้าติดตามหน้าจอเพื่ออัพเดทหุ้น โดย AI ที่นำมาใช้นี้ ได้รับการพัฒนาจนมีความแม่นยำและน่าเชื่อถือมาก จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า AI ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการด้านการเงินในปัจจุบันอย่างมาก


ในการวิเคราะห์หุ้นที่มีการผันผวนของตลาดและจับทิศทางได้ยาก AI จะเข้ามาช่วยในการประเมินการลงทุน วิเคราะห์ทิศทางหุ้นได้เบื้องต้น ว่าหุ้นตัวไหนจะมีการขึ้นหรือลงอย่างไร หุ้นตัวไหนคุ้มค่ากับการลงทุน หรือมีแนวโน้มจะสร้างกำไรในอนาคตได้ โดย AI ทำหน้าที่วิเคราะห์จากรูปแบบข้อมูลของสถานการณ์ที่ผ่านมาในอดีต รวมถึงการช่วยรวบรวมข้อมูลทางธุรกิจ เพื่อทำการประเมินในด้านอื่น ๆ ร่วมกัน

หรือแม้แต่ธุรกรรมการเงินที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่ซ้ำไปมา เช่น การฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน ไปจนถึงการตอบคำถามจากลูกค้าที่ถูกถามบ่อย ๆ จากลูกค้าผู้ใช้งาน ก็เป็นการทำงานของ Machine Larning ในรูปแบบหุ่นยนต์ ในการวิเคราะห์พฤติกรรม เรียนรู้และตอบโต้กลับได้อย่างทันท่วงที การนำมาใช้กับภาคการลงทุนในการคำนวณและจัดการ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับภาคธุรกิจได้ เหนือไปกว่านั้น AI ยังมีความสามารถในการให้คำแนะนำการซื้อประกันภัย โดยความสามารถของโมเดล AI ที่ได้รับการฝึกฝน และป้อนข้อมูลมหาศาลให้ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าได้รับผลิตภัณฑ์ด้านประกันภัยในระดับที่เหมาะสมและตอบโจทย์มากที่สุด

ในต่างประเทศ มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันที่เป็นผู้ช่วยด้านการเงินให้กับผู้ใช้งาน ด้วยการให้คำแนะนำและตอบคำถามของผู้ใช้งานที่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่ง AI จะคอยเก็บข้อมูลอยู่ตลอดเวลา เพื่อเรียนรู้และพัฒนาในการให้คำตอบได้ดียิ่งขึ้นด้วย โดยใช้ภาษาพูดโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้ทันที เช่น สอบถามยอดเงินคงเหลือในบัญชี การขอเรียกดูรายรับ รายจ่ายการใช้เงินในเดือนที่ผ่านมา หรือคำถามที่ละเอียดกว่านั้น เช่น การใช้เงินในการซื้อกาแฟในช่วงเดือนที่ระบุ และคำถามอื่น ๆ จากผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้เงินในบัญชีของตนเอง

หากจะพิจารณาถึงความสามารถของ AI ในการช่วยบริหารจัดการทางด้านการเงิน และการลงทุน ต้องลองดูวัตถุประสงค์ในการลงทุนว่า ณ ปัจจุบัน การลงทุนมีจุดบอดที่ต้องการการแก้ไขหรือไม่ ถ้าหากมี ก็เป็นโอกาสที่ AI หรือหุ่นยนต์จะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหาเหล่านั้น เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ การตลาดเฉพาะบุคคล และความเข้าใจในประสบการณ์ของลูกค้าจะเป็นสิ่งสำคัญ ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ จะช่วยสร้างมูลค่าแก่ผู้บริโภคและสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจการเงินทั่วโลกอย่างแน่นอน



bottom of page