top of page
  • รูปภาพนักเขียนTee Vachiramon

จริยธรรมกับการใช้เทคโนโลยีเอไอ




ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอไอคือสิ่งที่เข้ามามีส่วนร่วมและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในแทบทุกธุรกิจ ทั้งในด้านการช่วยยกระดับการทำงาน ลดการทำงานซ้ำ ๆ และส่งเสริมการทำงานของมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตามหากเราให้ความสามารถแก่เอไออย่างไร้การควบคุมที่เหมาะสม อาจกลับกลายเป็นการส่งผลเสียโดยส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตหรือเป็นภัยต่อสังคมส่วนรวม

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราอาจได้เห็นตัวอย่างของการนำเอาเทคโนโลยีเอไอมาใช้ในสังคมของมนุษย์ที่กว้างขวาง เช่น นครเซี่ยงไฮ้มีการติดกล้องวงจรปิดกว่า 10 ล้านตัวในพื้นที่สาธารณะ เพื่อตรวจจับพฤติกรรมของประชนชนในการใช้รถใช้ถนน และดำเนินการนำจับผู้ที่กระทำผิดกฏจราจร ผลจากสิ่งนี้เองทำให้ทางการจีนสามารถตามหาบุคคลสูญหายเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี ได้พร้อมกันถึง 4 คน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากด้านความมั่นคงของประเทศ



ขณะเดียวกันกล้องวงจรปิดมีความสามารถตรวจจับท่าทีของประชาชนในระยะไกล พร้อมแสดงข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างละเอียด เช่น ชื่อ เพศ อายุ หมายเลขประจำตัวประชาชน ประวัติการเดินทางย้อนหลัง ข้อมูลของเครือญาติและบุคคลที่ติดต่อได้ ทางการนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้ตรวจจับพฤติกรรมน่าสงสัยที่อาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมหรือในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า เทคโนโลยีการตรวจจับใบหน้า ได้เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการสแกนหน้าบุคคลผ่านหน้ากากอนามัยได้

ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ก่อให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการตั้งคำถามว่ารัฐบาลอาจใช้เหตุการณ์โรคระบาด หรือเหตุการณ์อื่น ๆ มาเป็นข้ออ้างในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนได้

ผมขอยกตัวอย่างการพัฒนาเอไออีกมุมหนึ่งจากกรณีศึกษาที่ว่า เราต้องการสร้างเอไอที่มุ่งสร้างความสุขให้กับมนุษย์เป็นหลัก เราอาจใส่ข้อมูลทั้งหมดที่มนุษย์เคยศึกษาค้นคว้าให้เอไอได้เรียนรู้ ทำให้เอไอเข้าใจผิดว่าความสุขของมนุษย์นั้นแท้จริงแล้วเกิดจากการเพิ่มระดับของสารเคมีบางอย่างในร่างกายของมนุษย์ เอไอจึงตัดสินใจฉีดสารเคมีบางอย่างเพื่อเพิ่มระดับความสุขของมนุษย์ ส่งผลให้มนุษย์มีความสุขก็จริง แต่มันเป็นวิธีที่ถูกต้องรึเปล่า แน่นอนว่าอาจมีบิลรอเรียกเก็บเป็นความทุกข์ต่อมวลมนุษย์ในภายหลังก็เป็นได้

จากคำถามในเรื่องจริยธรรมต่างๆ ทำให้องค์กรที่เป็นผู้นำด้านเอไอระดับโลกอย่าง Microsoft และ Google ได้ตระหนักและคำนึงถึงความสำคัญด้านจริยธรรม จึงผลักดันธุรกิจให้ยึดหลักในการทำงานโดยมีการกำหนดมาตรฐานในการพัฒนานวัตกรรมด้านเอไอที่ชัดเจน เช่น ความเป็นกลางในการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ การเคารพความเป็นส่วนตัว และความโปร่งใสของข้อมูล โดยเอไอต้องทำงานอย่างมีความรับผิดชอบไม่ว่ากรณีใดก็ตาม

ประโยชน์จากการนำเอไอมาใช้นั้นมีมากมายมหาศาล และเทคโนโลยีเอไอนั้นเกิดขึ้นมาจากการเรียนรู้รูปแบบของข้อมูลจำนวนมาก กฎเกณฑ์ของโมเดลล้วนถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ทั้งสิ้น หากเสียแต่ว่าประโยชน์เหล่านั้นจะถูกนำมาจัดการร้อยเรียงอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรมหรือไม่ และถ้าจะเปรียบเทคโนโลยีนี้เป็นอาวุธ ที่สามารถทำได้ทั้งคุณ ​และโทษนั้นก็ย่อมสำคัญที่คุณธรรมของผู้ครอบครองในการคำนึงด้านจริยธรรม ความเหมาะสม และความถูกต้องอย่างรอบคอบ โดยเคารพกฎหมายและความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล รวมถึงความเป็นไปได้ของการรับผิดชอบในการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

ผมในฐานะส่วนหนึ่งของผู้พัฒนาและใช้งานเอไอ มีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้พัฒนาเอไอในประเทศไทยจะตระหนักถึงความสำคัญด้านจริยธรรมในเอไออย่างจริงจัง มีการปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่บุคคลากรในทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่มวลมนุษย์ชาติ เพราะจริยธรรมเหล่านี้คือหัวใจสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีความต่างไปจากเอไออย่างสิ้นเชิง

bottom of page