top of page
  • รูปภาพนักเขียนTee Vachiramon

เทคโนโลยีเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานแบบ Hybrid Work


เมื่อธันวาคม 2020 กูเกิลเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน โดยให้พนักงานเข้าออฟฟิศอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์และให้ทำงานจากที่บ้านในวันที่เหลือ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท PwC ก็ประกาศให้พนักงานกว่า 40,000 คนในอเมริกาสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ภายในประเทศ โดยให้เข้าออฟฟิศเฉพาะเมื่อมีการประชุมครั้งสำคัญ การเข้าร่วมกิจกรรมบริษัทเท่าที่จำเป็น หรือออกไปพบลูกค้า จึงทำให้บริษัททั่วโลกต่างนำวิธีเดียวกันนี้ไปปรับใช้กันมากขึ้น เมื่อมาดูแนวคิดจากทางฝั่งพนักงานเองก็พบว่า หลายคนรู้สึกพอใจกับการทำงานในรูปแบบใหม่ หรือ Hybrid Work คือ การทำงานที่ไหนก็ได้แทนการทำงานที่ออฟฟิศเพียงอย่างเดียว และจากผลสำรวจก็มีอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ พนักงานบางส่วนมีความคิดที่จะลาออกหากบริษัทจะให้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศเพียงอย่างเดียว ซึ่งนำไปสู่ปรากฎการณ์ The Great Resignation หรือการลาออกครั้งยิ่งใหญ่ที่หลายประเทศกำลังเจอ

จะเห็นได้ว่าตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจของพนักงานที่จะเลือกอยู่หรือลาออก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความกังวลเรื่องความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 แต่เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตและความต้องการของพนักงานที่เปลี่ยนไป องค์กรต่าง ๆ จึงควรปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และความต้องการที่เปลี่ยนแปลง และต้องพิจารณาเตรียมความพร้อมในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในด้านการจัดการ การสื่อสาร การสร้างความผูกพันและการมีส่วนร่วมภายในองค์กรอีกด้วย

เช่น การนำเทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ หรือ National Language Processing (NLP) มาวิเคราะห์ภาษาและข้อความในแบบสำรวจความคิดเห็นขององค์กร ซึ่งได้ผลเป็นตัวชี้วัดความต้องการที่แท้จริงของพนักงาน แสดงข้อมูลปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขได้อย่างตรงจุด ครอบคลุม เป็นกลาง และแม่นยำ ซึ่งผู้บริหารสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวางแผนจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ ทั้งด้านการรับคนที่เหมาะกับองค์กร และการรักษาคนให้อยู่กับองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะที่บริษัท Humu ได้พัฒนาเทคโนโลยีเอไอที่ชื่อว่า Nuege Engine ซึ่งทำงานโดยการวิเคราะห์แบบสำรวจของพนักงาน ออกมาเป็นข้อมูลทักษะที่ควรพัฒนา ทั้งระดับทีมและส่วนบุคคล รวมทั้งวิเคราะห์ความรู้สึกของพนักงานที่มีต่อองค์กรว่าเป็นอย่างไรและควรแก้ไขอย่างไร นอกจากนี้ Nuege Engine ยังมีระบบเตือนพนักงานให้เปลี่ยนแปลง พัฒนา หรือแก้ไขในด้านต่าง ๆ เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับคนในทีมและมีความสุขในที่ทำงาน เช่น ระบบคอยเตือนเมื่อถึงเวลาชื่นชมเพื่อนร่วมงาน หรือระบบเตือนหัวหน้าให้ถามความเห็นสมาชิกในทีม ซึ่งก็เป็นจังหวะเวลาที่อัลกอริธึมวิเคราะห์มาให้อย่างเหมาะสมแล้ว

นอกจากนี้ ผู้บริหารควรพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในด้านอื่น ๆ เช่น การปรับใช้ระบบเอกสารและการจัดเก็บข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด การปรับพื้นที่โต๊ะทำงานแบบ hot desk คือ ไม่มีที่นั่งประจำของแต่ละคน แต่ให้เปิดจองผ่านแอปพลิเคชั่นในวันที่ต้องเข้าออฟฟิศ รวมทั้งลดพื้นที่การทำงานเพื่อเพิ่มพื้นที่ส่วนกลาง เพราะเหตุผลในการเข้าออฟฟิศจะไม่ใช่การเข้ามานั่งทำงานอีกต่อไป แต่หมายถึงการเข้ามาประชุมครั้งสำคัญ มาร่วมสัมมนา หรือเข้ามาพบปะเพื่อนร่วมงานเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน และสุดท้าย ซึ่งเป็นความท้าทายที่สุดคือ การเชื่อมและปิดช่องว่างระหว่างพนักงานที่ทำงานที่บ้านและที่ออฟฟิศ โดยการประชุมออนไลน์จะต้องนำมาใช้ต่อไป จริงอยู่ว่าอาจจะไม่ใช่เทคโนโลยีที่ใหม่ แต่ลองคิดภาพตามถึงความจำเป็นของแพลตฟอร์มนี้ ในการเชื่อมต่อการประชุมไม่ว่าแต่ละคนจะอยู่ที่ไหน ซึ่งในอนาคตอันใกล้เราคงจะได้เห็นฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์กับการทำงานในรูปแบบ Hybrid Work มากขึ้นอย่างแน่นอน

จากแนวโน้มที่องค์กรชั้นนำระดับโลกได้ทยอยเดินหน้าประกาศปรับรูปแบบการทำงานสู่ Hybrid Work กันมากขึ้น ทำให้ผมเชื่อว่าองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยก็จะเริ่มปรับตัวสู่การทำงานรูปแบบนี้มากขึ้นเช่นกัน อย่าลืมว่าธุรกิจขับเคลื่อนได้ด้วยทรัพยากรมนุษย์ การวางแผนเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะทำให้องค์กรของท่านเดินหน้าต่อไปได้ ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ



bottom of page