top of page
  • รูปภาพนักเขียนAnantaya Pornwichianwong

เริ่มต้นยังไง เปลี่ยนองค์กรให้ขับเคลื่อนด้วย Data



อยากเปลี่ยนองค์กรให้ขับเคลื่อนด้วย Data เริ่มต้นอย่างไรดี? การแปลงโฉมเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลได้กลายเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรจำเป็นต้องทำในยุคที่ข้อมูลกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาล และตัดสินชะตากำไรขาดทุนของธุรกิจได้ แต่ก่อนจะเริ่มต้นศึกษาขั้นตอนต่าง ๆ นั้น มาดูกันก่อนว่า องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลนั้นเป็นแบบไหน?


ภาพขององค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล หรือที่เราเรียกกันว่า Data-Driven ที่หลาย ๆ คนนึกถึง มักจะเป็นองค์กรที่มีระบบและ Dashboard วิเคราะห์ข้อมูลที่ทันสมัย เข้าถึงข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ และใช้เอไอและแมชชีนเลิร์นนิงมาเป็นเครื่องมือหลัก


แต่นั่นเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเท่านั้น ความหมายที่แท้จริงของการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล คือการที่องค์กรและพนักงานทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและรู้จักการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ มีนโยบายการใช้ข้อมูลอย่างถูกต้องที่บังคับใช้กันทั้งองค์กร และมีการใช้ข้อมูลอย่างแพร่หลายในทุกทีม ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ทีม Data Analyst หรือนักวิเคราะห์ข้อมูลเท่านั้น และส่วนที่สำคัญที่สุดคือ คนในองค์กรทุกคนจะทำงานโดยใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการหาคำตอบหรือการตัดสินใจ ก็จะมาจากการมีข้อมูลที่ถูกต้องสนับสนุน


เห็นกันแล้วใช่มั้ยครับว่าการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ไม่ใช่เพียงแค่การเอาเทคโนโลยีด้านข้อมูลที่ล้ำสมัยมากมายมาปรับใช้เท่านั้น แต่ต้องหยั่งรากลึกลงไปถึงวัฒนธรรมในองค์กร และสร้างวัฒนธรรมแบบ Data-Driven ร่วมกันทั้งองค์กร ในทุกแผนก และในการทำงานของพนักงานทุกคน


องค์กรไหนที่ยังไม่เริ่มต้นขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เพราะยังไม่รู้จะวางแนวทางปรับเปลี่ยนอย่างไร หรือรู้สึกว่าองค์กรหรือทีมของเรายังไม่ได้โอบรับวัฒนธรรมของการใช้ข้อมูลอย่างแท้จริง วันนี้เซอร์ทิสขอแนะนำ 5 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการเปลี่ยนองค์กรให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างแท้จริง เริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้ ไม่มีคำว่าสายเกินไปครับ



1. กำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสม


การกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานที่เหมาะสม เข้ากับเป้าหมายหลักขององค์กร เพื่อให้พนักงานรู้ว่าจะต้องทำอะไร สร้างผลงานให้ได้แบบไหน และรู้แนวทางการเลือกใช้ข้อมูลในมือให้มีประสิทธิภาพสูงสุด


การมีข้อมูลในมือที่ครอบคลุมและพร้อมใช้งานนั้นเป็นเรื่องดี แต่การมี KPI (Key Performance Indicators) ดัชนีชี้วัดผลงาน หรือเป้าหมายงานที่เยอะและสะเปะสะปะเกินไปอาจทำให้พนักงานหลงทาง และไม่รู้จะใช้ข้อมูลไหนให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร การตั้งเป้าหมายและ KPI ที่ชัดเจน ปฏิบัติได้จริง ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป จะเป็นแรงหนุนให้พนักงานใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และองค์กรเปลี่ยนโฉมให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลได้อย่างแท้จริง


2. สร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในองค์กร


ในบางครั้งอาจเกิดภาวะที่แต่ละทีมทำงานแยกกัน และเก็บข้อมูลแยกออกจากกัน โดยไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือความคืบหน้ากับทีมอื่น ๆ ในองค์กร การจะทำให้องค์กรขับเคลื่อนด้วยข้อมูลได้อย่างเต็มรูปแบบนั้น ต้องสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน รวมถึงแนวทาง Data Democratization ให้พนักงานในองค์กรเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้อย่างมั่นใจ และไม่มีอุปสรรค




3. สร้างความร่วมมือจากทุกฝ่าย


การเปลี่ยนโฉมองค์กรให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายและทุกทีมจึงจะสำเร็จ ไม่ใช่แค่ทีมที่รับผิดชอบด้านข้อมูลเท่านั้น ดังนั้นจึงควรจัดการประชุมเพื่อแจ้งการอัปเดตความเปลี่ยนแปลงในแต่ละขั้นให้กับแต่ละทีม อธิบายให้แต่ละทีมเข้าใจว่าเป้าหมายคืออะไร เราอยู่ตรงจุดไหน ต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางไหนและอย่างไร รวมถึงในการทำงานของแต่ละทีมมีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายถามคำถามที่ตนเองสงสัยได้อย่างเปิดกว้าง เพื่อสร้างความร่วมมือในการปรับเปลี่ยน


4. เชื่อมต่อข้อมูลที่กระจัดกระจายให้รวมอยู่ที่เดียว


ขั้นตอนต่อมาในการเริ่มต้นเปลี่ยนองค์กรให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างเต็มรูปแบบนั้น แน่นอนว่าต้องเริ่มต้นที่การจัดระเบียบข้อมูลและเชื่อมต่อข้อมูลที่อยู่กระจัดกระจายในองค์กรให้มารวมศูนย์อยู่ที่จุดเดียว ในหนึ่งองค์กรมีทีมหลากหลายทีม ไม่ว่าจะเป็นทีมการตลาด ทีมขาย หรือทีมไอทีที่มีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน และแต่ละทีมมีการเก็บข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการทำงานของตนเอง ซึ่งแม้จะเป็นข้อมูลของทีมที่ต่างกัน แต่ในองค์กรเดียวกันที่มีเป้าหมายสูงสุดแบบเดียวกัน ข้อมูลเหล่านั้นก็จะมีความเชื่อมโยงกันแน่นอน แต่ปัญหาคือข้อมูลเหล่านี้มักอยู่ในที่ที่กระจัดกระจายกันไป ไม่เชื่อมต่อ ทำให้เวลาดูข้อมูลแล้วเราจะมองไม่เห็นภาพรวมและไม่เห็นถึงคำตอบที่แท้จริงในข้อมูล


การเริ่มต้นเปลี่ยนโฉมองค์กรให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลนั้น เริ่มต้นจากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของทุกทีมในองค์กร ให้มารวมอยู่ในที่เดียวกัน ในรูปแบบเดียวกัน และเชื่อมต่อกัน โดยในขั้นตอนนี้ต้องอาศัยการวางระบบ Pipeline ที่ช่วยให้เราสามารถจัดระเบียบข้อมูล ตั้งแต่การทำ Data Mapping วางแผนเชื่อมต่อข้อมูลที่อยู่คนละแหล่ง Data Integration รวมข้อมูลจากหลายแหล่งเข้าด้วยกัน และทำการ Data Cleaning จัดระเบียบข้อมูลให้สอดคล้องอยู่ในรูปแบบเดียวกัน รวมไปถึงการทำ Data Normalization & Quality Assurance เพื่อวางแผนจัดเก็บข้อมูลในอนาคตให้ไม่มีข้อผิดพลาด




5. มีระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่เข้าถึงง่ายและมีประสิทธิภาพ


บางครั้งพนักงานอาจไม่สามารถตีความและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตนเองได้ และไม่เข้าใจว่าข้อมูลต้องการจะสื่ออะไร และเราควรตัดสินใจไปในทิศทางไหน นอกจากจะมีฐานข้อมูลที่รวมศูนย์กลางแล้ว องค์กรต้องมีระบบการทำ Data Analytics หรือแพลตฟอร์ม Data Analytics ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ที่แสดงผลแบบเข้าใจได้ง่ายสำหรับทุก ๆ ทีมในองค์กร


รวมไปถึงการใช้ Data Visualization มาช่วยแสดงผลในเชิงของกราฟหรือแผนภูมิ สร้าง Dashboard ที่พนักงานเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา และดูข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญของการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ช่วยให้เรามองเห็นสิ่งที่ข้อมูลจะสื่อได้อย่างง่ายดายไม่ซับซ้อน มองเห็นว่าควรวางกลยุทธ์ไปในทิศทางไหน และตัดสินใจได้โดยมีข้อมูลรองรับ เช่นนี้จึงจะทำให้องค์กรใช้ประโยชน์จากข้อมูล และเปลี่ยนตัวเองให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลได้อย่างแท้จริง


หรือเริ่มต้นไปพร้อมกับเราที่เซอร์ทิส เราคือผู้ให้บริการโซลูชันด้านข้อมูลชั้นนำของประเทศไทย ด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแขนงร่วมกันสร้างสรรค์โซลูชันที่ใช่ที่สุดสำหรับลูกค้า เป็นโซลูชันออกแบบมาเฉพาะตัวให้เข้ากับปัญหาของธุรกิจ เริ่มต้นได้ตั้งแต่การวางโครงสร้างข้อมูลจากศูนย์ ในขั้นตอนของ Data Preparation ไปจนถึงการสร้างแพลตฟอร์มที่จัดการและวิเคราะห์ข้อมูลอัตโนมัติ ในส่วนของ Data Processing สร้าง Dashboard ที่แสดงผลแบบเรียลไทม์ และเข้าใจง่ายด้วย Data Analytics Platform และ Data Visualization และต่อยอดการวิเคราะห์ข้อมูลแบบอัจฉริยะและอัตโนมัติแบบเต็มศักยภาพด้วยโซลูชันเอไอและแมชชีนเลิร์นนิง เราพร้อมให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอนเพื่อร่วมเปลี่ยนองค์กรของคุณให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลได้อย่างแท้จริง


เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโซลูชันจากเซอร์ทิส: https://www.sertiscorp.com/services

bottom of page