top of page
  • รูปภาพนักเขียนSertis

"เอไอ" กุญแจสำคัญสู่การพัฒนาระบบ Supply Chain



การวางแผนที่ดีเป็นโอกาสและจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องใส่ใจต่อกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่เรียกว่า ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การเริ่มจัดหาวัตถุดิบ การจัดเก็บวัตถุดิบเพื่อรอการผลิต การวางแผนการผลิต การจัดเก็บสินค้าหลังกระบวนการผลิต การลำเลียงขนส่งสินค้าไปยังลูกค้าและผู้บริโภค ผมเชื่อว่าเจ้าของธุรกิจทุกท่านต่างให้ความสำคัญในทุกกระบวนการ มีการทำงานและการวางแผนได้เป็นอย่างดี แต่จะเป็นอย่างไรหากเรานำปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทมากขึ้นให้กระบวนการต่างๆ เพื่อเพิ่มความแม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในทุกมิติ โดยหากเรามีการเก็บข้อมูลย้อนหลังในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบและมีจำนวนที่มากพอ (จำนวนข้อมูลที่ควรมีอย่างน้อยคือประมาณ 2-3 ปี) ร่วมกับความชำนาญและประสบการณ์การทำงานของคนในองค์กรที่เรามี เราสามารถสอนให้เทคโนโลยีเอไอมาช่วยงานเราได้อีกหลายด้าน เช่น

การคาดการณ์อุปสงค์ (Demand Forecasting)

เทคโนโลยีเอไอสามารถคาดการณ์ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความต้องการของลูกค้า ยอดขาย หรือแม้แต่คาดการณ์ช่วงเวลาของการเสื่อมสภาพของเครื่องจักรได้อย่างแม่นยำ (จากผลลัพธ์ของเราพบว่ามีความแม่นยำขึ้นอย่างน้อย 5-10% และจะมีความแม่นยำขึ้น เมื่อมีจำนวนข้อมูลมากขึ้น) การคาดการณ์ที่แม่นยำจะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถเตรียมการและจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการเพิ่มยอดขาย ลดค่าใช้จ่าย ลดปริมาณสต็อกสินค้า ลดพื้นที่จัดเก็บ ลดความเสียหาย เวลา และความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

การวางแผนการผลิต (Production Planning)

ในฝ่ายผลิตของโรงงานบางแห่งอาจต้องใช้เวลา 1 ถึง 3 วัน เพื่อสรุปข้อมูล จัดประชุมและวางแผนร่วมกันกับฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการผลิตในแต่ละเดือน หรือในแต่ละสัปดาห์ และอาจจะต้องเสียเวลามากกว่านั้นในการแก้ไข หากเกิดปัญหาอื่น ๆ ขึ้นโดยไม่คาดคิด เช่น มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อกระทันหัน เกิดความขัดข้องของเครื่องจักรที่ใช้ผลิต เกิดอุบัติเหตุในการขนส่งวัตถุดิบ หรือจากการขาดแคลนพนักงาน แต่ด้วยเทคโนโลยีเอไอ ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลสถิติย้อนหลังจำนวนมากได้ในเวลาอันรวดเร็ว เราสามารถร่นเวลาที่ใช้ในการวางแผนจาก 3 วันให้เสร็จได้ภายใน 10 นาที และมีความแม่นยำสูง อีกทั้งยังสามารถให้คำแนะนำหรือแผนสำรอง ไว้สำหรับรับมือในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต

การวางแผนกระจายสินค้า (Logistic / Distribution Planning)

ในธุรกิจที่มีการขนส่งวัตถุดิบหรือสินค้าไปยังจุดหรือร้านสาขา ย่อมมีความซับซ้อนในการวางแผนเรื่องการจัดการขนส่งสินค้า บางบริษัทที่มีสาขาไม่มากอาจวางแผนการจัดส่ง (Delivery Routing) จากประสบการณ์และจากการคำนวณด้วยตนเองได้ หรือบางบริษัทก็ใช้เครื่องมือหรือโปรแกรมมาช่วยคำนวณหาเส้นทางที่คุ้มค่าที่สุด

แต่เรามักพบว่าจะเกิดความยุ่งยากทุกครั้ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น มีการเพิ่มหรือลดสาขา มีการเปลี่ยนเส้นทาง หรือเปลี่ยนขนาดรถขนส่ง ซึ่งจะต้องเสียเวลาเป็นอย่างมากในการคิดคำนวณใหม่

ซึ่งในจุดนี้เราสามารถนำเทคโนโลยีเอไอที่ผ่านการเทรนด์โดยผู้เชี่ยวชาญและศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอ มาช่วยวางแผนและแนะนำการลำเลียงจัดส่งสินค้าให้เราอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหน้าที่ของเราจะเหลือเพียงแค่การอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ และการตรวจสอบเส้นทางที่เอไอเลือกมาให้

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบัน มีส่วนเข้ามาช่วยเหลือและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างมาก ไม่เพียงเฉพาะงานที่ต้องใช้แรงงานหรืองานที่ต้องทำซ้ำ ๆ เพียงเท่านั้น แต่ยังนำมาช่วยงานได้อย่างเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งหากเรานำเอไอมาใช้ตั้งแต่ในขั้นตอนแรก ย่อมส่งผลดีต่อขั้นตอนต่อไป ไม่ก่อให้เกิดการดำเนินงานที่สร้างความสูญเปล่า (waste) เกิดเป็นความสำเร็จและสร้างเม็ดเงินให้กับผู้ประกอบการได้อย่างแน่นอน




bottom of page