top of page
  • Writer's pictureTee Vachiramon

Data กับบทบาทที่คาดไม่ถึงใน NFL



เช้าวันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นอีกวันที่แฟนๆ ชาวอเมริกันฟุตบอลต่างรอคอย เพราะศึก ‘NFL Super Bowl’ ครั้งนี้จะเป็นการปะทะกันระหว่าง New England Patriots กับ Atlanta Falcons ซึ่งการแข่งกันของคู่นี้เป็นเกมที่น่าสนุก เพราะเกมรุกของทั้งสองทีมติด Top 5 แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ทั้งสองทีมมีแนวทางการสร้างทีมคล้ายกัน เนื่องจาก GM ของ Atlanta Falcons เคยเป็นคนช่วยหานักกีฬาให้ New England Patriots

หากมองเผินๆ อเมริกันฟุตบอล เป็นกีฬาที่ดูรุนแรง เพราะ ให้คนมาชนคนเหมือนใช้ ‘กำลัง’ มากกว่า ‘สมอง’ ผมเคยคิดอย่างนี้เหมือนกัน จนมีโอกาสได้เล่น VDO game Madden จึงเริ่มเข้าใจว่ากีฬานี้เป็นเกมที่ใช้สมองมากพอๆ กับหมากรุก เมื่อมองในเชิงการบริหารแล้ว อเมริกันฟุตบอลเป็นตัวอย่าง การแข่งขันระหว่างองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูง โดยแต่ละองค์กรต่างไม่รู้ว่าอีกฝ่ายจะใช้กลยุทธ์อะไร แต่อาวุธสำคัญที่สร้างความได้เปรียบของทีมเก่งๆ นั้นคือ ‘การวิเคราะห์ข้อมูล’ (Data Analytics)



ภาพจาก www.sporttechie.com

การสร้างทีมและบุคลากร Ernie Adams (Football research director ของ Patriots) สร้างกระบวนการในการแลกเปลี่ยนนักฟุตบอล ด้วยการแลกเปลี่ยนมูลค่าของนักกีฬา (Draft) กับทีมอื่น ทำให้ Patriots ได้นักกีฬาที่ดี ราคาไม่แพงแถมได้จำนวนมากขึ้นโดย Patriots ได้ใช้แบบจำลองสถิติในการการวิเคราะห์เพื่อประเมินมูลค่าและคัดเลือกนักฟุตบอล ตั้งแต่ปี 1990 ด้าน Falcons เองก็ใช้เทคโนโลยีในการตรวจจับและพัฒนาสุขภาพของนักกีฬา โดยการวัดปริมาณการออกแรงระหว่างฝึกซ้อม รวมถึงการควบคุมการนอนหลับให้เพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้นักกีฬามีสมรรถภาพที่สูงขึ้น

การวางแผนกลยุทธ์ ทั้งนี้แต่ละทีมจะมีผู้ช่วยในการวิเคราะห์และจดสถิติ เพื่อศึกษาพฤติกรรม แนวโน้ม จุดอ่อน จุดแข็งของนักฟุตบอลฝั่งตรงข้าม เนื่องจากไม่รู้ว่าฝ่ายตรงข้ามจะรุกด้วยวิธีใด ดังนั้นนักฟุตบอลทุกตำแหน่งต้องศึกษาคู่แข่งในตำแหน่งตรงข้ามจากวีดีโอ เช่น ตำแหน่งแนวรุกก็ต้องศึกษาแนวรับ คนนำทีมบุก (Quarterback) ก็ต้องเข้าใจว่าทีมตรงข้ามมักจะใช้การป้องกันพื้นที่ยังไงในการป้องกัน ที่แต่ละระยะทางของสนาม

โค้ช Bill Belichick (Patriots) ปรับกลยุทธ์ในการรุก หลังจากได้อ่านงานวิจัยของ David Romer นักเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ข้อมูลในอดีต (historical data) มาวิเคราะห์ว่าควรจะทำอย่างไร เมื่อเหลือโอกาสสุดท้ายที่จะรุก (4th down strategy) การใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากด้านบนที่เรียกว่า ‘All 22’ เกิดขึ้นทุกรอบ ทำให้โค้ชกับผู้เล่นเห็นภาพผู้เล่นทั้งหมด 22 คนในสนาม เพื่อนำมาปรับปรุงกลยุทธ์การเล่นในรอบถัดไป

ในเชิงธุรกิจการสร้าง feedback หรือระบบการวิเคราะห์ เหมือน All 22 จะทำให้องค์กรรู้ว่าสิ่งที่องค์กรทำไปเกิดผลลัพธ์อย่างไร ในลักษณะเดียวกันการใช้ข้อมูลในอดีต เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า จะทำให้องค์กรมีความแม่นยำในการปฏิบัติงาน รวมทั้งมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

อนาคตกับ data ที่มากขึ้น ปัจจุบัน NFL เริ่มทดลองติด RFID sensor ในฟุตบอลกับ shoulder pad ของนักฟุตบอลเพื่อที่จะติดตามความเคลื่อนไหวของทุกสิ่งที่วิ่งอยู่ในสนาม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ โค้ช ผู้เล่น ผู้ชม ผู้ตัดสิน และหมอ ได้เห็นข้อมูลและสถิติรายละเอียดของเกมอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โค้ชกับผู้เล่นจะสามารถวิเคราะห์ความเคลื่อนไหว รูปแบบของผู้เล่นทุกตำแหน่งโดยไม่ต้องมานั่งแกะวีดีโอ อาทิ รู้ว่าผู้เล่นวิ่งระยะทางแค่ไหน มีส่วนร่วมในเกมมากแค่ไหน ผู้ชมได้เห็นสถิติต่างๆ ที่ทำให้รู้จักความสามารถของผู้เล่นมากขึ้นทำให้การดูมีความสนุกสนานขึ้น ผู้ตัดสินรู้ว่าฟุตบอลอยู่ในตำแหน่งไหนหลังจากที่ผู้เล่นหยุดเล่นในแต่ละรอบ หมอได้เห็นแรงกระแทก ความเร็วที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ เพื่อจะนำข้อมูลไปช่วยสร้างเครื่องมือความปลอดภัยสำหรับนักกีฬา

การมีข้อมูลที่ละเอียดถือเป็นการเปิดโอกาสที่จะสร้างมูลค่า เพราะทุกวันนี้องค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงล้วนแข่งขันกันด้วยการนำข้อมูลดี ละเอียด และมีคุณภาพ มาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

bottom of page