top of page
  • รูปภาพนักเขียนTee Vachiramon

เดินหน้าสร้าง Smart City ด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยีเอไอ



หลายคนคงจะได้ยินคำว่า “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” ผ่านข่าวสารต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจ Thailand 4.0 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและบริหารจัดการเมือง และนับจากนี้ไปเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น ในการสร้างและขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปสู่เป้าหมายในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ การปรับระบบการให้บริการของภาครัฐ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการขนส่ง ตลอดจนการสร้างเมืองที่ปลอดภัย เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยกลายเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบในภูมิภาคอาเซียน ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีคุณภาพและมีความสุข

ในประเทศไทยเริ่มมีการเดินหน้าพัฒนาระบบจัดการพลังงานแล้ว ตัวอย่างที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีการนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ช่วยบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานภายในกลุ่มอาคาร เพื่อคาดการณ์ปริมาณการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิต พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานทางเลือกอื่น ๆ และใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาช่วยสร้างระบบให้เกิดการซื้อขายพลังงานระหว่างอาคาร ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก และใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หน่วยงานภาครัฐของไทยเองก็มีการนำเอไอเข้ามาใช้พัฒนาการให้บริการและการทำงานต่าง ๆ เช่นกัน เนื่องจากในแต่ละวันมีประชาชนเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก อาจจะได้รับการบริการที่ล่าช้าและไม่ทั่วถึง จึงเกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะ เข้ามาช่วยลดขั้นตอนหรือภาระงานที่ต้องทำซ้ำของเจ้าหน้าที่ เช่น การคัดแยกเอกสาร การใช้ระบบอัตโนมัติช่วยลดขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ เช่น ระบบสแกนใบหน้า และระบบตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานของผู้รับบริการในเบื้องต้น เพื่อลดความผิดพลาด สร้างความสะดวกรวดเร็วให้กับผู้ใช้บริการ และเจ้าหน้าที่เองก็จะได้ใช้เวลาไปทำงานส่วนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ในด้านการพัฒนาระบบคมนาคมก็มีการนำเอไอประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytic) มาวิเคราะห์ข้อมูลจากกล้องวงจรปิด ข้อมูลปริมาณรถสะสมแต่ละช่วงเวลา สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพื่อนำมาแก้ปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนที่มีปริมาณรถสะสมจำนวนมาก ซึ่งผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวนี้ จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้นำไปวางแผน ปรับเส้นทางการสัญจรต่าง ๆ รวมทั้งควบคุมสัญญาณไฟจราจรให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องยังสามารถดูข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที

อีกหนึ่งตัวอย่างในการพัฒนาเมืองสู่การเป็น Smart City คือ การสนับสนุนหรือส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมในการคัดแยกขยะ ในปัจจุบันหลายภาคส่วนต่างก็พยายามที่จะรณรงค์ให้เกิดการแยกขยะที่ถูกวิธี โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ทุกคน แต่ก็ยังพบว่ายังได้รับความร่วมมือน้อย หรือยังปฏิบัติผิดวิธีอยู่ แต่ในประเทศจีน ประเทศที่เป็นผู้ผลิตขยะรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และมีจำนวนประชากรประมาณ 1.3 พันล้านคน ซึ่งมากกว่าประเทศไทยกว่า 20 เท่า กลับสามารถทำได้สำเร็จ ด้วยการนำเทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR มาใช้ แทนที่จะให้ทุกคนจะต้องจดจำประเภทของขยะแต่ละชนิดซึ่งมีความยุ่งยาก ก็สามารถทำการสแกนขยะผ่านกล้องบนสมาร์ทโฟนว่าอยู่ในประเภทใด ควรกำจัดอย่างไร และยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถขายขยะรีไซเคิลจากบ้านของพวกเขาได้อีกด้วย

ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีคือสิ่งที่มีประโยชน์และสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างและพัฒนา Smart City แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการพัฒนาองค์ความรู้ของทรัพยากรมนุษย์ให้ควบคู่กันไป เพราะหากทุกภาคส่วนมีความรู้ความเข้าใจ มองเห็นถึงแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม มีเป้าหมายเดียวกันที่จะช่วยพัฒนาร่วมกัน ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา Smart City ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและมีประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ครับ

bottom of page