top of page
  • รูปภาพนักเขียนTee Vachiramon

ศักยภาพของ AI ต่อการขับเคลื่อน EEC



โลกยุคใหม่ที่เราใช้ชีวิตอยู่ในขณะนี้ คือโลกของการนำเทคโนโลยีมาช่วยคิด วิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเลียนแบบพฤติกรรมของมนุษย์ และเราก็ปฏิเสธการทำงานของเอไอไม่ได้อีกต่อไป เพราะนอกจากจะเข้ามามีบทบาทส่งเสริมภาคธุรกิจต่าง ๆ แล้ว ยังมีส่วนสำคัญในโครงการระดับประเทศอย่างโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยเป็นแผนยุทธศาสตร์โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ในบทความนี้ ผมขอพูดถึงความสามารถของเอไอ ต่อ EEC เพื่อผลักดันโครงการด้วยเทคโนโลยีให้มีศักยภาพในระดับสากล

AI และการจัดการข้อมูล Big Data ถือเป็นเครื่องมือหลักที่จะเข้ามาปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมสู่ระบบอัตโนมัติ และช่วยผลักดันการเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart city) ที่มีการพัฒนาเรื่องระบบพลังงานอัจฉริยะหรือสมาร์ทกริด การขนส่ง การคมนาคม ชุมชน เศรษฐกิจ การเกษตร สิ่งแวดล้อมและอื่น ๆ โดยมีการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้า และการลงทุนด้านอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการสร้างอุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่ โดยแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการเน้นในเรื่องเทคโนโลยีในหลากหลายด้าน

โดยปัจจุบันมีการผลิตหุ่นยนต์และสร้างระบบอัตโนมัติเพื่อใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และบริการต่าง ๆ ยกตัวอย่างอาคารผู้โดยสารของสนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง ในเขต EEC ได้มีการใช้หุ่นยนต์ต้อนรับ เพื่อให้ข้อมูลกับผู้โดยสาร รวมทั้งช่วยนำลูกค้าไปยังจุดให้บริการต่าง ๆ ในรูปแบบ Guide & Go เพื่อโต้ตอบ รวมถึงระบบวิเคราะห์และประมวลผลภาพวิดีโออัจฉริยะ ใช้ตรวจจับและรับรู้ใบหน้าบุคคล และสิ่งของในพื้นที่อาคารสนามบิน เพื่อตรวจจับวัตถุต้องสงสัย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านระบบรักษาความปลอดภัย ในขณะที่ท่าเรือของ EEC ที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าออกสู่ต่างประเทศในภูมิภาคก็มีการติดตั้งและใช้งานรีโมตในการควบคุมเครนลำเลียงสินค้าในการบริการท่าเรือผ่านระบบ 5G มีรถขนส่งสินค้าแบบไร้ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการทำงาน ในช่วงเวลาที่แรงงานคนต้องหยุดพัก พร้อมทั้งมีการติดตั้งอุปกรณ์อ่านเลขตู้คอนเทนเนอร์เก็บสินค้าและทะเบียนรถที่ผ่านเข้า-ออกประตูด้วยกล้อง CCTV รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ เช่น น้ำหนักรถบริเวณท่าเรือ เพื่อการจับคู่รถเที่ยวเปล่า การจัดคิว การประมาณเวลาขน-ส่งสินค้า และการคาดการณ์เพื่อซ่อมบำรุงถนน โดยการสร้างแพลตฟอร์มให้เกิดการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล Data Analytics ผ่าน IoT

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าที่เรียกว่า สมาร์ทกริด (Smart grid) เป็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานหมุนเวียน ผ่านเทคโนโลยีที่สามารถตรวจวัด รับ-ส่งสัญญาณข้อมูล โดยการทำงานร่วมกับอุปกรณ์และระบบไฟฟ้าอื่น ๆ อย่างชาญฉลาด ผ่านเทคโนโลยี AI และบล็อกเชนในการติดตั้ง ดูแล และบำรุงรักษาระบบมิเตอร์อัจฉริยะที่เมืองพัทยา เป็นการช่วยลดค่าไฟฟ้าและเป็นการยกระดับประสิทธิภาพในการจัดการด้านพลังงานที่มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในอนาคตอาจมีการผลิตไฟฟ้าและซื้อ-ขายพลังงานได้อีกด้วย

ด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกร้อนและภัยแล้งถือเป็นสองปัญหาหลักที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ จึงมีการนำเทคโนโลยีอย่างระบบเซ็นเซอร์ ระบบฐานข้อมูล และ Digital Twin (การสร้างแบบจำลองวัตถุขึ้นในโลกดิจิทัลทั้งในรูปแบบของภาพและข้อมูล) เพื่อใช้ในการตรวจตรา และคาดการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เหล่านี้ล้วนเป็นแนวทางปฏิบัติในการนำเทคโลโนยีเข้ามาใช้งานเพื่อช่วยยกระดับการเป็นสมาร์ทซิตี้อย่างสมบูรณ์แบบ

การแพทย์ ก็มีการใช้เทคโนโลยี Machine learning และ Deep learning มาใช้ประโยชน์ในหลากหลายงาน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล และวินิจฉัยโรคเบื้องต้นเพื่อการรักษาโรคของผู้ป่วย การใช้หุ่นยนต์ในการช่วยลดงานประจำ และการสัมผัสของบุคคลากร อย่างการนำส่งยา อาหาร และเอกสารภายในสถานพยาบาล

มีหลายบทบาทที่เทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ EEC ซึ่งอย่าลืมว่าเราควรมีการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งปลูกฝังให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้พัฒนาความสามารถในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างราบรื่น เพราะเทคโนโลยีเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะในโครงการ EEC นี้ ให้ตอบโจทย์การเป็นไทยแลนด์ 4.0 อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

bottom of page