การทำการเกษตรแบบ Smart Farm ถือเป็นการยกระดับภาคการเกษตรที่ทำกันมานานในรูปแบบเดิม โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยรวบรวม บันทึก และวิเคราะห์ข้อมูลภายในฟาร์ม สวนผักหรือผลไม้ โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น สำหรับการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการตรวจสอบการทำงานภายในฟาร์มให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด เช่น การรดน้ำ ใส่ปุ๋ย การควบคุมโรค และเก็บเกี่ยวผลผลิตในท้ายที่สุด ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เราสามารถทำได้ด้วยเทคโนโลยีเอไอ เพียงแต่เจ้าของฟาร์มหรือคนดูแลฟาร์ม จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจกับระบบการทำงานของเอไอ และวิเคราะห์ปัญหาที่ต้องการแก้ไข หรือจุดบกพร่องของฟาร์มตนเองก่อน เพื่อส่งต่อข้อมูลให้เอไอเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
ข้อมูล เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำ Smart Farm ยิ่งข้อมูลมีจำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้เราได้รู้ข้อมูลเชิงลึกของปัญหาและจุดบกพร่องที่ควรปรับปรุงของฟาร์มมากขึ้น โดย Machine learning จะทำการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลพยากรณ์อากาศ ข้อมูลจากเซนเซอร์ต่าง ๆ เพื่อวัดค่าสารอาหารและความชื้น และภาพถ่ายทางอากาศจากโดรน โดยข้อมูลจะถูกนำไปประมวลผล ก่อนสร้างเป็นโมเดล เพื่อควบคุมคุณภาพของผลผลิตได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถกำหนดการรดน้ำ ใส่ปุ๋ยได้อย่างแม่นยำโดยหุ่นยนต์ และยังสามารถคาดการณ์จำนวนพืชผลทางการเกษตร ไปจนถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และไม่ก่อให้เกิดผลผลิตที่เกินความต้องการของตลาดอีกด้วย
มีหลายหน่วยงานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศที่ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีในการทำ Smart Farm ยกตัวอย่างโครงการ FarmBeats โดยภาครัฐและไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ร่วมมือกันพัฒนาขึ้นเพื่อผลักดันให้การจัดการฟาร์มในทุกขั้นตอนมีความแม่นยำขึ้น และเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดด้วยต้นทุนที่ต่ำลงจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยจะเน้นไปที่กลุ่มพืชเศรษฐกิจหลักของไทย 5 ประเภท ได้แก่ ข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง ยางพารา และอ้อย
ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีการทำเกษตรภายใน (Vertical Indoor Farming) โดยใช้เทคโนโลยี IoT เอไอ และ Machine learning ในการปลูกพืชผักจากเมล็ด ผ่านการใช้ไฟ LED โดยใช้กล้องเก็บภาพ และข้อมูลตลอดระยะเวลาการเจริญเติบโตของผักเพื่อทำการวิเคราะห์ และระบบอัลกอริทึมจะทำหน้าที่ดูแลพืชผักแทนมนุษย์ เช่น การปรับการให้แสงไฟ ให้น้ำ สารอาหาร ปรับอุณหภูมิ ความชื้น ออกซิเจน และความถ่ายเทของอากาศ ซึ่งช่วยควบคุมพืชผักจากโรค และเป็นการลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพและจำนวนผลผลิตได้มากกว่าการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมอีกด้วย
และนอกเหนือจากเรื่องของผลผลิตทางการเกษตรที่เอไอเข้ามามีส่วนช่วย บริษัท เซอร์ทิส จำกัด ก็ได้มีการพัฒนาโครงการ FarmLab โดยเป็นการใช้เทคโนโลยีเอไอกับ Computer Vision ในการเข้ามาช่วยตรวจสอบขั้นตอนการทำงานของพนักงานภายในฟาร์ม ส่งเสริมความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) และยังพัฒนาระบบต่อทางด้านการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพผลผลิต เช่น ปริมาณของน้ำและอาหารที่สัตว์บริโภค การวัดน้ำหนักและคุณภาพของเนื้อหมู และการวิเคราะห์โรคจากซากของสัตว์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับรู้ถึงปัญหาและลงพื้นที่แก้ไขได้อย่างทันท่วงที
การนำเทคโนโลยีเอไอ เข้ามามีช่วยส่งเสริมการเกษตร ถือเป็นการช่วยยกระดับการเกษตรในรูปแบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพียงแต่เราต้องปรับตัว ที่จะเรียนรู้และก้าวให้เท่าทันเทคโนโลยี และเทคโนโลยีจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
References:
https://www.intel.com/content/www/us/en/big-data/article/agriculture-harvests-big-data.html
https://medium.com/@MarkCrumpacker/this-is-how-ai-can-help-indoor-farming-79a4c2b9dd7d
https://www.pymnts.com/news/merchant-innovation/2020/crop-one-ai-data-driven-vertical-farming/
https://medium.com/@jpp440/vertical-indoor-farming-ai-revolution-in-agriculture-ef6d32ca256
https://thestandard.co/microsoft-on-a-mission-of-elevating-thai-agriculture-with-ai-and-big-data/
Comments