top of page
  • Writer's pictureTee Vachiramon

ประโยชน์ของเอไอกับการพัฒนาการศึกษาในอนาคต



ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา นักพัฒนาเทคโนโลยีต่างเชื่อมั่นว่าการคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมคือหนทางสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมที่จะนำมาซึ่งความมั่นคงของประเทศ และหากเรามองย้อนไปอีกก็จะพบว่าสิ่งสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกความสำเร็จมักจะมาจากการได้รับการศึกษาที่ดีและเหมาะสมที่เอื้อประโยชน์ให้บุคคลสามารถพัฒนาตนเองและสร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่ยอมรับและต่อยอดสู่การขับเคลื่อนสังคมได้ในภาพรวม สำหรับหัวข้อนี้จะกล่าวถึงการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence – AI) เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านการศึกษาที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต ประโยชน์ของปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ต่อการพัฒนาระบบการศึกษาที่เห็นได้ชัดเจนคือการเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของครูและอาจารย์ในการลดปริมาณภาระงานที่มักจะต้องทำซ้ำๆ และใช้เวลานาน (repetitive tasks) เช่น งานเอกสาร การตรวจการบ้าน การตรวจให้คะแนนข้อสอบทั้งแบบตัวเลือก (Multiple Choice) และการเขียนตอบ โดยนักพัฒนาจะใช้เทคโนโลยี Machine Learning เพื่อป้อนข้อมูลให้เอไอเรียนรู้และอ้างอิงการให้คะแนนจากรูปแบบ (pattern) ของชุดคำตอบที่ถูกต้อง รวมถึงสามารถตรวจจับการคัดลอก (Plagiarism) และการทุจริตในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้บุคลากรทางการศึกษาสามารถลดต้นทุนด้านเวลาและหันมาให้ความสำคัญกับการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวกับนักเรียนในการทำความเข้าใจบทเรียนและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีความซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้ง เอไอยังช่วยสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การปรับรูปแบบการเรียนการสอน และการพัฒนาสื่อการสอนใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความรู้และเงื่อนไขของนักเรียนได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถวิเคราะห์ผลสำเร็จและแก้ไขความบกพร่องในหลักสูตร ช่วยให้นักเรียนเข้าถึงความก้าวหน้าของตนและสิ่งที่ยังต้องปรับปรุงได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การสร้างสรรค์เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละกลุ่ม และอาจจะสามารถไปถึงการปรับบทเรียนให้เข้ากับผู้เรียนแบบรายบุคคล (Personalized) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ และยังเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการพัฒนาสื่อการสอนในบางเนื้อหาวิชาที่อาจจะต้องอาศัยการเรียนรู้เพิ่มเติมที่ไม่ได้มีการเปิดสอนตามปกติอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาเอไอยังเป็นทางออกที่ดีสำหรับนักเรียนที่มีความผิดปกติที่การศึกษาในหลักสูตรปกติอาจจะไม่เหมาะสมกับเงื่อนไขของพวกเขา อาทิ เด็กที่ป่วยเป็นโรคดิสเล็กเซีย (Dyslexia) ที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบการทำงานที่เซลล์สมองซีกซ้าย ส่งผลให้มีภาวะความบกพร่องในการอ่าน มีปัญหาในการอ่านเขียนและการสะกดคำ ไม่สามารถผสมคำได้ ซึ่งจัดเป็นความผิดปกติเฉพาะในด้านการเรียนรู้ (Learning Disorder) ที่พบราว 10% ในเด็กอายุระหว่าง 3-4 ขวบ ในต่างประเทศ โดยเอไอจะสามารถช่วยแก้ปัญหาด้วยการช่วยสร้างรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการจดจำและตีความจากภาพเพื่อทดแทนการผสมคำและเสียงตามหลักไวยกรณ์ปกติ ช่วยให้เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้สามารถอ่านออกเขียนได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้การใช้เอไอจะสามารถครอบคลุมการทำงานในระบบการศึกษาได้ดี แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในบางหน้าที่ เช่น การปลูกฝังและการส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้งวินัย คุณธรรม จริยธรรม และการขัดเกลานิสัยที่ต้องมีความละเอียดอ่อนและลึกซึ้ง ที่ยังคงต้องอาศัยการทำงานตามหลักวิชาชีพของครู อาจารย์และบุคลากรในสถาบันการศึกษาเป็นหลัก อีกทั้ง การพัฒนาเอไอเพื่อใช้ในระบบการศึกษาก็ยังจำเป็นต้องได้รับการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะระบบการประมวลผลจะต้องถูกสร้างขึ้นจากมนุษย์ที่เป็นผู้คัดกรอง สอนและป้อนข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมมากที่สุดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้และการทำงานของทุกฝ่าย เพราะการศึกษาคือพื้นฐานของความสำเร็จและเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุดของการดำเนินชีวิต การสนับสนุนให้เกิดระบบการศึกษาที่ถูกต้องเหมาะสมก็จะทำให้ผู้รับการศึกษาสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของประเทศชาติได้ต่อไปในอนาคต


bottom of page