top of page
  • Writer's pictureTee Vachiramon

‘เอไอ’ ตัวช่วยส่งเสริมศักยภาพครูในยุคดิจิทัล



เมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอเข้ามามีบทบาทต่อการสร้างประโยชน์ให้กับหลายภาคส่วน รวมถึงด้านการพัฒนาการศึกษา ทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ ก็มักจะเกิดคำถามตามมาว่า เอไอจะเข้ามาแทนที่การทำงานของอาชีพครูหรือไม่ สำหรับเซอร์ทิสกลับมองว่า เอไอจะยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่อาชีพครูได้ แต่ในทางตรงกันข้าม กลับเข้ามาช่วยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถทำงานได้ง่ายและเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในช่วงหลายปีมานี้ เรามักจะเห็นความร่วมมือระหว่างบริษัทไอทีกับองค์กรด้านการศึกษา ผ่านความร่วมมือในหลากหลายโปรเจ็คทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเดียวกันในการยกระดับคุณภาพของระบบการศึกษา ช่วยลดการใช้เวลากับภาระงานที่ต้องทำซ้ำๆ (routine works) ของครู เช่น การช่วยตรวจการบ้านและข้อสอบ โดยระบบคอมพิวเตอร์จะสามารถช่วยตรวจสอบความถูกต้องและนับคะแนน พร้อมทั้งเทียบเคียงคำตอบของนักเรียนแต่ละคนว่ามีความเหมือนหรือใกล้เคียงกัน (similarity) มากน้อยเพียงใด เพื่อช่วยลดปัญหาการทุจริตของนักเรียนระหว่างการทำข้อสอบ รวมถึงตรวจการคัดลอกข้อมูล (plagiarism) เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลการวิจัยและบทความวิชาการสาขาต่างๆ ได้อีกด้วย อีกทั้ง ระบบยังสามารถช่วยคัดเลือก (generate) ข้อสอบหรือแบบฝึกหัดให้เหมาะสมกับนักเรียนแบบรายบุคคล (personalized) ตามเงื่อนไขความแตกต่างด้านทักษะ ความถนัด และความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน เช่น โปรแกรม Data and Impact Assessment, Monitoring, and Development System (DIAMONDS) ที่เกิดจากความร่วมมือกันของมูลนิธิทีชฟอร์ไทยแลนด์ (Teach for Thailand) และบริษัทเซอร์ทิส ในการพัฒนาโปรแกรมสำหรับคัดเลือกข้อสอบให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน โดยการบันทึกคะแนนการสอบแต่ละครั้ง เพื่อประมวลผลและดูความถนัดของผู้เรียนว่าควรพัฒนาที่จุดใดเป็นหลัก จากนั้นโปรแกรมจะทำการคัดเลือกข้อสอบให้เหมาะสมกับผู้เรียนรายนั้นๆ เพราะการเรียนในรูปแบบเดียวกันทั้งหมดอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการศึกษายุคดิจิทัล ยิ่งไปกว่านั้น เอไอยังสามารถเข้ามาช่วยส่งเสริมคุณภาพการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ เช่น University of Southern California Institute for Creative Technologies สหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาสภาพแวดล้อมเสมือนจริงและเครื่องมือเสมือนจริง (Visual Environments and Platforms) โดยนำเอไอ เกมสามมิติ และคอมพิวเตอร์แอนิเมชั่น มาสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงในการเรียนการสอน รวมถึงการใช้ระบบตรวจสอบและจดจำใบหน้า (Face Recognition) เพื่อการตรวจนับจำนวนและระบุคนที่เข้าเรียน ตรวจจับอารมณ์ของนักเรียนขณะที่ครูสอน และการติดตามพฤติกรรมของนักเรียนขณะอยู่ในห้องเรียน รวมถึง สามารถนำระบบติดตามผลดังกล่าวไปใช้กับนักเรียนที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมบ่อยครั้ง กลุ่มเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ บุคลากรด้านการศึกษาจำเป็นต้องคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลของนักเรียน โดยการแจ้งข้อมูลกับนักเรียนและขออนุญาตผู้ปกครองก่อนที่จะทำการติดตาม (track) ด้วยกล้องตรวจจับใบหน้าขณะอยู่ในพื้นที่โรงเรียน กระบวนการเหล่านี้คือประโยชน์ของเทคโนโลยีที่เข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงานของอาชีพครู เปิดโอกาสให้ครูสามารถใช้เวลาในการพัฒนาทักษะ ออกแบบการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะที่แตกต่างกันของนักเรียนแต่ละคนได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการพัฒนาเด็กให้มีทั้งทักษะความรู้ (right skill) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมทักษะการดำเนินชีวิตที่ดี (right attitude) รวมไปถึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับจิตใจและความรู้สึกของผู้เรียนและผู้ปกครองได้มากขึ้น ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่เอไอไม่สามารถเข้ามาแทนที่ครูได้นั่นเอง ท้ายที่สุดนี้ หากเราพิจารณาถึงเงื่อนไขการพัฒนารากฐานของสังคมที่ตัวบุคคล บทบาทสำคัญที่สุดของครูในยุคดิจิทัลคือความสามารถในการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างผลลัพธ์ด้านการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้เรียนพัฒนาขีดความสามารถของตนได้มากที่สุด ช่วยให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมทั้งจากครูที่มีคุณภาพและเทคโนโลยีที่เปิดโลกทัศน์ทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมถึงสามารถพัฒนาทักษะเฉพาะด้านของเด็กแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม สร้างบุคคลากรที่มีคุณภาพในสาขาอาชีพต่างๆ สู่การพัฒนาขีดความสามารถของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต


bottom of page