top of page
  • Writer's pictureTee Vachiramon

5 ประโยชน์ของการใช้ศาสตร์เดต้าไซน์ในองค์กร



ไม่นานข้อมูลจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกบริษัทขาดไม่ได้

หากพูดถึงสิ่งที่เป็นกระแสในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ดาต้าไซน์” และเทคโนโลยีอันชาญฉลาดอย่าง “เอไอ” ซึ่งถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการพัฒนาศักยภาพขององค์กร พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในโลกยุคดิจิทัล ผมมองว่าหากรู้จักนำศาสตร์ดังกล่าวมาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กร จะสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาล ดังตัวอย่าง 5 ข้อต่อไปนี้

1.ทำนายหรือคาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำขึ้น ดาต้าไซน์จะช่วยให้คาดการณ์และมองเห็นโอกาสที่กว้างไกลกว่าเดิมจากข้อมูลที่มีอยู่ ทั้งในเรื่องของราคา ทิศทางของเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่มองเห็นทำเลที่ได้เปรียบและเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้คว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้ได้ก่อนใคร

2.รู้จักและเข้าใจลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น การทำธุรกิจคือการสร้างความพึงพอใจที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งสามารถทำได้โดยการนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ เช่น เน็ตฟลิกซ์ และ อะเมซอน ที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงการให้บริการจนประสบผลสำเร็จและเป็นผู้นำในตลาด

ธุรกิจอื่นๆ เช่น ธนาคาร ร้านค้าหรือร้านอาหารก็สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน เช่น การนำระบบการจับภาพเคลื่อนไหว และระบบจดจำใบหน้ามาใช้เก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าในร้าน หรือใช้ตรวจสอบคุณภาพการให้บริการของพนักงาน แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงพัฒนาคุณภาพธุรกิจให้เหมาะสม

3.สื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจคือการเชิญชวนให้ลูกค้ายอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้า การทำการตลาดแบบเดิมด้วยการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์หรือสิ่งพิมพ์ที่ไม่ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนอาจยังคงสร้างผลลัพธ์ที่ดี แต่วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่เป็นมิตรต่องบประมาณ อีกทั้งการเข้ามามีบทบาทของสื่อดิจิทัลยังส่งผลให้ผู้ชมที่เสพสื่อผ่านโทรทัศน์มีจำนวนน้อยลง ตรงนี้เองที่ทำให้แมชชีนเลิร์นนิง และ ออโตเมชั่นเข้ามามีบทบาทในวงการโฆษณาแทนที่สื่อดั้งเดิม เพราะนอกจากจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ยังสามารถกำหนดกลุ่มลูกค้าและเลือกช่องทางการโฆษณาได้ดีกว่าอีกด้วย

4.ลดค่าดำเนินการ การคาดการณ์ที่แม่นยำขึ้นจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยลง และส่งผลให้ธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้นจากค่าดำเนินการที่เกิดจากข้อผิดพลาดลดลง ตัวอย่างเช่น การนำข้อมูลมาใช้เพื่อเลือกทำเลในการเพิ่มสาขาร้านค้าและการคาดการณ์ยอดขายที่แม่นยำ จะช่วยให้การจัดการสินค้าและการขนส่งมีประสิทธิภาพดีขึ้น พร้อมทั้งลดค่าจัดการสินค้าและค่าเสียหายจากสินค้าค้างสต๊อก

5.พัฒนาทรัพยากรบุคคล บุคคลากรคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของทุกบริษัท การเลือกคนที่เหมาะสมเข้าทำงานจะทำให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการเลือก “คนที่ใช่” ทำได้โดยการนำข้อมูลของคนเหล่านั้นมาวิเคราะห์ตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัครงาน ซึ่งจะทำให้รู้ถึงทักษะและประสิทธิภาพตลอดจนรูปแบบการทำงานที่ผู้เข้าสมัครต้องการได้มากขึ้น ถือเป็นการเพิ่มความมั่นใจว่าจะได้คนที่ใช่และผู้สมัครเองก็อยากจะร่วมงานกับบริษัท

นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อมูลการทำงานของพนักงานมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาความสามารถของพวกเขาให้ตรงจุด ตลอดจนปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เหมาะกับพนักงานแต่ละคน เพราะความสุขในการทำงานก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรแข็งแรงและมีคุณภาพ

อีกไม่นานข้อมูลจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกบริษัทขาดไม่ได้ เปรียบเทียบระบบข้อมูลเป็นเสมือนไฟฟ้าในยุคศตวรรษที่ 20 ที่บริษัทต่างๆ ยังคงใช้พลังงานจากถ่านหินและไอน้ำ เมื่อไฟฟ้าถูกคิดค้นขึ้น หลายบริษัทก็เริ่มหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าในการดำเนินกิจการ บริษัทใดที่ไม่ปรับตัวก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้นาน เช่นเดียวกับปัจจุบันที่ระบบข้อมูลและเอไอได้ถูกพัฒนาขึ้นมา อาจกล่าวได้ว่าบริษัทใดที่ไม่ได้นำข้อมูลมาใช้ในธุรกิจก็เปรียบเหมือนบริษัทที่ยังคงใช้พลังงานถ่านหินและไอน้ำในช่วงศตวรรษที่ 20 นั่นเอง

การพูดคุยเรื่องการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์กับทีมในบริษัทอาจเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในปีนี้ เพราะหากยังไม่มีแผนปรับตัว นั่นหมายความว่าบริษัทของคุณอาจตามหลังบริษัทอื่นๆ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

bottom of page